จากกรณี ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี รายงานว่า เมื่อเวลา 01.36 น. วันที่ 6 พ.ค.2568 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.0 ที่ระดับความลึก 4 กิโลเมตร บริเวณ ต.บุญทัน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู มีรายงานการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในพื้นที่บ้านบุญทัน และบ้านแสงอรุณ ต.บุญทัน
ต่อมา เพจ มิตรเอิร์ธ – mitrearth โพสต์ข้อความระบุว่า 6/5/2568 แผ่นดินไหว 3.0 หนองบัวลำภู (ติดจ.เลย) เรื่องปกติ เกิดจาก ตะเข็บธรณีเลย (Loei Suture)
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เพจดังกล่าว เคยให้ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวภาคอีสานไว้ว่า ภาคอีสาน รอยเลื่อนที่ยังพอจะน่าสนใจในมิติพิบัติภัย มีแค่ที่ จ.เลย (ตะเข็บธรณีเลย ที่เคยเกิดแผ่นดินไหว 2.0-3.0) และ จ.บึงกาฬ (รอยเลื่อนท่าแขก)
รอยเลื่อนอื่นๆ ในอีสานที่มีข่าว เช่น รอยเลื่อนโคราช รอยเลื่อนภูเขียว รอยเลื่อนสตึก ฯลฯ ต่อให้มี ก็ล้วนแล้วแต่เป็น รอยเลื่อนที่ไม่มีพลังแล้ว (inactive fault) มีประโยชน์ในแง่การใช้ช่วยอธิบายการเหลื่อมกันของหินในการทำแผนที่ธรณีวิทยา
สาเหตุที่หมดพลังแล้วในภาพรวม เพราะแรงทางธรณีแปลสัณฐานหลักของยุคเรานี้มาจากเขตมุดตัวสุมาตรา-อันดามัน นอกชายฝั่งอันดามันซึ่งไกลมาก และแรงพวกนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนง่ายๆ ภายใน 1000 ปีหรือ 10,000 ปี
ขออนุญาตยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นเฉยๆ นะครับ “ก่อนจะทำให้รอยเลื่อนในอีสานที่ว่า เลื่อนตัว ลองโชว์ทำให้รอยเลื่อนในภาคอื่นๆ ดุกว่านี้เสียก่อน”
แผ่นดินไหวที่บุรีรัมย์ เมื่อปีที่แล้ว ไม่ได้เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน อันเนื่องมาจากแรงทางธรณีแปรสัณฐานครับ
หากจะนับรอยแตกหรือรอยเลื่อนเหล่านี้มาให้วิตกกังวลกัน เส้นแบบนี้มีอีกเพียบในภาคเหนือ ตะวันตกและภาคใต้ของไทยครับ เพียบชนิดที่ว่า อยู่กันไม่ได้เลยทีเดียว
หรือถ้าจะปลุกรอยเลื่อนพวกนี้ให้ตื่น ในทางธรณีวิทยา ปลุกยากพอๆ กับปลุกภูเขาไฟพนมรุ้งเขากระโดง ให้กลับมาระเบิดอีกครับ มันไม่ได้หลับหรอกครับ สำหรับผมมันตายไปแล้วอย่างสงบ (แรงพวกนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนง่ายๆ ภายใน 1000 ปี หรือ 10,000 ปี)
ยกเว้นเลยและบึงกาฬ ถ้าอีสานจะมีรอยเลื่อน ก็เพื่อใช้ประโยชน์ในการแปลความทางธรณีวิทยาเป็นหลักครับ ไม่ได้น่ากังวลได้พิบัติภัยเลยแม้แต่นิดเดียว
อธิบายมาทั้งหมดนี้ ผมมีเพียงเจตนาดีเดียวครับ ไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนก ในสิ่งที่ไม่ควรตระหนกครับ ขาดทุนหัวใจ แยกย้ายกันไปหาอยู่หากินดีกว่าครับ
